Thursday, January 13, 2011

วิธีการนับเวลาในสมัยก่อน


พวกคุณเคยอ่านหนังสือเก่า......แล้วจะเห็นข้อเขียนว่า สามนาฬิกาเก้าบาท เอ...แล้วเขานับเวลาสมัยเก่ากันอย่างไรกันละ...วันี้ผมมีคำตอบมาให้แล้วละครับ

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

บาท

บาท ๑, บาท-
ความหมาย

[บาด, บาดทะ-] น. ตีน, ราชาศัพท์ว่า พระบาท. (ป., ส. ปาท).

บาท ๒
ความหมาย

น. มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท, อักษรย่อว่า บ.;
เขียนตามวิธีโบราณดังนี้ (อักขระพิเศษ) หมายความว่า ๓ บาท; ชื่อมาตราชั่งตามวิธีประเพณี
สําหรับกําหนดนํ้าหนักเท่ากับเงินหนัก ๑๕ กรัม.

บาท ๓
ความหมาย

น. ส่วนหนึ่งของบทแห่งคําประพันธ์ เช่น โคลง ๔ สุภาพ บทหนึ่งมี ๔ บาท.

บาท ๔
ความหมาย

น. ช่วงเวลาเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของชั่วโมง เท่ากับ ๖ นาที

การนับเวลาแบบโบราณ

1 ชั่วโมง มี 10 บาท = 60 นาที
5 บาท =30 นาที
1 บาท = 6 นาที
เวลากลางคืน

ปฐมยาม(18.00 น. - 21.00 น.) คือ จากย่ำค่ำถึง 3 ทุ่ม "ทุ่ม" บอกเวลากลางคืน
เดิมใช้กลองตีดัง ทุ่มๆ
ทุติยยาม(21.00 น. - 24.00 น.) คือ จาก 3 ทุ่ม ถึง 6 ทุ่ม "โมง" บอกเวลากลางวัน
เดิมใช้ฆ้อง ตีดังโมงๆ
ตติยยาม(24.00 น. - 3.00 น.) คือ จาก 6 ทุ่ม ถึง 9 ทุ่ม ย่ำสิบเอ็ดสามบาท =
ตีห้ากับสิบแปดนาที

ปัจฉิมยาม(3.00 น. - 6.00 น คือจาก 9 ทุ่ม ถึงย่ำรุ่ง

ปัญหา ได้อ่านหนังสือเก่าพบคำว่า "กรมนาฬิกา" ไม่ทราบว่า กรมนี้อยู่ที่ไหน มีหน้าที่ทำอะไร

ตอบ กรมนาฬิกาเป็นกรมขึ้นในวัง และหอนาฬิกานั้นชอบกลนักหนา มีเหมือนกันทั้งไทยและพะม่า ประเพณีเดิมทีเดียวเห็นจะมีมาเก่าแก่มาก
อาจได้แบบแผนมาจากอินเดียก็เป็นได้ ทำเป็นหอสูง ชั้นยอดของหอแขวนฆ้องใบหนึ่งกลองใบหนึ่ง
ในห้องชั้นต่ำลงมาตั้งอ่างน้ำเอากะลาซึ่งวักน้ำเหมาะขนาดที่ลอยอยู่เพียง ๖๐ นาฑีแล้วจม ลอยไว้ในอ่างนั้น มีคนนั่งยามประจำอยู่ เวลาพระอาทิตย์ขึ้น
ลอยกะลา ซึ่งตามภาษามคธว่า "นาฬิกา" จึงเข้าใจว่าได้ตำรามาจากอินเดีย พอนาฬิกาจมลงคนก็ขึ้นไปตีฆ้อง ในเวลา นาฬิกาแรกตีครั้งหนึ่ง
นาฬิกาที่สองที่สามก็ตีมากครั้งขึ้นตามลำดับ ที่ในห้องนั้นมีราวสำหรับปักไม้ติ้วเป็นที่สังเกตของคนตี ได้นาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วไว้อันหนึ่ง
ถึงอีกนาฬิกาหนึ่งก็ปักติ้วเติมอีกอันหนึ่งเรียงต่อกันไป สำหรับผู้ตีจะได้นับรัวกี่นาฬิกา ถึงเวลาค่ำพระอาทิตย์ตกปักติ้วครบ ๑๒ อัน แล้วเอาออกเสียคราวหนึ่ง
ด้วยกลางคืนตีกลองแทนฆ้อง ด้วยเหตุนี้แหละจึงเรียกเป็นคำสามัญว่า "โมง" ในเวลากลางวัน ว่า "ทุ่ม" ในเวลากลางคืน ตามเสียงฆ้องและเสียงกลอง
ที่ตีกลองในเวลากลางคืนนั้นเห็นจะเป็นด้วยเสียงกลองดังไปไกลกว่าเสียงฆ้อง

ในเรื่องโรงนาฬิกานี้ยังมีต่อไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้าตีโมงหรือทุ่มอื่นๆ ตีเพียงอัตราทุ่มและโมง ถ้าตีเวลา ๖ นาฬิกา ๑๒ นาฬิกา ต้องตีย่ำฆ้องเสียก่อนลาหนึ่ง
แล้วจึงตีบอกอัตรานาฬิกา กลางคืนตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา ต้องตีย่ำกลองเสียก่อนลาหนึ่งเรียกว่าย่ำค่ำ ๒๑ นาฬิกาย่ำลาหนึ่งเรียกว่ายามหนึ่ง
เที่ยงคืนย่ำสองลาเรียกสองยาม ๓ นาฬิกาย่ำสามลาเรียกสามยาม แล้วตีอัตราต่อ ตอนรุ่งก็ย่ำรุ่ง ตอนเที่ยงก็ย่ำเที่ยง กลางวันก็ย่ำฆ้อง กลางคืนย่ำกลอง

เหตุไรจึงตีย่ำ ไปรู้มาจากเมื่อไปเมืองอินเดีย ไปได้ยินย่ำที่เมืองพาราณสี ถามเขาจึงได้ความว่า ที่ตีย่ำนั้นเป็นสัญญาบอกให้เปลี่ยนคนรักษายาม
คือประเพณีการรักษายามกลางวัน ๖ ชั่วโมงเปลี่ยนครั้งหนึ่ง กลางคืน ๓ ชั่วโมงเปลี่ยนครั้งหนึ่ง ไทยเราเอาหน้าที่บอกสัญญาเปลี่ยนยาม
มาเป็นพนักงานของโรงนาฬิกาจึงตีย่ำ แต่เมื่อเกิดนาฬิกากลอย่างฝรั่งขึ้นแล้ว ในเมืองไทยเราก็เลิกลอยกะลา ใช้นาฬิกากลอย่างฝรั่งแทน และเลิกตีกลองในเวลากลางคืน
ใช้ระฆังใบใหญ่ใบหนึ่งตีแทนทั้งสองสิ่งนั้น แต่ว่าชื่อที่เรียกว่าโมงและทุ่ม ยังใช้อยู่เป็นสำคัญ ให้รู้ว่าตีฆ้องกลางวันและตีกลองกลางคืน

ลายพระหัตถ์ เรื่องนาฬิกา
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับ
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

ตำหนักปลายเนิน คลอยเตย
วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๓

ธานี

เธอถามถึงนาฬิกา อาว์ก็จน ด้วยตั้งแต่เกิดมาก็เห็นเขาใช้นาฬิกากลกันเสียแล้ว เป็นแต่รู้โดยหนังสือซึ่งได้อ่านพบและฟังเขาพูดกัน
เป็นว่าเอาภาชนะเล็กเจาะก้นลอยน้ำในภาชนะใหญ่ เมื่อน้ำไหลเข้าทีละน้อยจนภาชนะเล็กจมก็นับเอาเป็นเวลาหนึ่ง
แต่จะเป็นเท่าไรนั้นไม่ทราบ ทั้งนี้เป็นด้วยเห็นการตีไก่ เขายังใช้จอกเจาะก้นลอยในขัน เมื่อจอกนั้นจมเขาเรียกว่า "อันจม"
เขาก็จับไก่แยกออกจากการตีไปให้น้ำ สุดแต่จะสัญญากันว่าตีกี่ "อัน" อย่างเดียวกันกับการต่อยมวยทางฝรั่ง
อีกประการหนึ่งสังเกตชื่อนาฬิกา นั่นแปลว่า มะพร้าว จึ่งคิดว่าแต่ก่อนนี้เขาคงใช้กะลาก้นกลวงลอยน้ำเป็นเครื่องวัดเวลา
ดูเหมาะดีที่จะฉวยเอากะลาซึ่งมีอยู่ดาษดื่นที่ไหนมาใช้ก็ได้
เขาจะเอาชันอุดรู้ก้นก้นกะลาเจาะไขให้น้ำเข้าตามใจชอบเอาใหม่หรืออย่างไรไม่ทราบ แต่นี่เป็นเดาทั้งนั้น

อันเครื่องวัดเวลานั้นมีอยู่มากนัก จะให้เห็นตัวอย่างก็เช่น
๑. "บ่ายควาย" "ควายเข้าคอก" นั่นเป็นสังเกตดูดวงอาทิตย์เป็นวัดเวลาอย่างหยาบ

๒. "ชั้นฉาย" นั่นสังเกตเอาเงา เป็นของละเอียดขึ้น ใช้ในการบวชนาค
๓. การสอบไล่หนังสือพระ ได้ยินว่าแต่ก่อนใช้จุดธูปเป็นเครื่องวัดเวลา ถ้าธูปไหม้หมดดอกยังแปลไม่บรรลุก็จัดว่าเป็นตก

ขอให้สังเกตกลอนในมูลบทบรรพกิจ ท่านแบ่งเวลาไว้ไม่ตรงกับนาฬิกากล

.....วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ..................กลางวันท่านกำ
หนดไว้ว่าสี่ยามมี
.....กลางคืนก็นับยามสี่......................วันกับราตรี
จึงเป็นแปดยามตามใช้
.....ยามหนึ่งสามนาลิกาไว้..................นาลิกาท่านใช้
กลางวันท่านเรียกว่าโมงนา
.....กลางคืนเรียกว่าทุ่มหนา.................นาลิกาหนึ่งรา
ได้สิบบาดท่านบอกไว้
.....บาทหนึ่งสี่นาทีไทย.......................หนึ่งนาทีได้
สิบห้าเพ็ชชะนาที
.....เพ็ชชะนาทีหนึ่งนี้..........................หกปราณด้วยดี
ปราณหนึ่งสิบอักษรไซร้

ก) วันหนึ่งแบ่งเป็น ๒ ภาค เป็นกลางวันครึ่งหนึ่งกลางคืนครึ่งหนึ่ง
ข) วันกับคืนนั้นแบ่งเป็น ๘ ยาม คือ กลางวัน ๔ ยาม กลางคืน ๔ ยาม
ค) ยามหนึ่งเป็น ๓ ชั่วโมง กลางวันเรียกว่าโมง กลางคืนเรียกว่าทุ่ม ข้อนี้สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ทรงสันนิษฐานว่า
กลางวันเขาคงตีด้วยฆ้อง กลางคืนเขาคงตีด้วยกลอง ตามที่ทรงสันนิษฐานเช่นนี้เห็นชอบด้วยอย่างยิ่ง
ฆ) โมงหนึ่งแบ่งเป็น ๑๐ บาท ตกเป็นบาทหนึ่ง ๖ มินิตแห่งนาฑี
ง) บาทหนึ่งแบ่งเป็น ๔ นาฑี หนึ่งนาฑีแบ่งเป็น ๑๕ เพชรนาฑี ตกนาฑีหนึ่งเป็นมินิต ๑ กับ๓๐ สกันแห่งนาฬิกากล*
จ) เพชรนาฑีหนึ่งแบ่งเป็น ๖ ปราณ เห็นจะหมายเอาหายใจเข้าหรือออกทีหนึ่ง ตกเป็นสกัน ๑ แห่งนาฬิกากล
ฉ) ปราณหนึ่งแบ่งเป็น ๑๐ อักษร จะหมายถึงเขียนหนังสือหรืออะไรไม่ทราบ ถ้าหมายถึงเขียนหนังสือแล้ว
ชั่วหายใจเข้าหรือออกทีหนึ่งเขียนหนังสือได้ ๑๐ คำ เห็นเร็วเต็มที แม้เอาพยัญชนะก็เห็นไม่ไหวอยู่นั่นเอง

ไม่ว่าเครื่องวัดอะไรไม่มีเที่ยงทั้งนั้น แม้นาฬิกากลก็ไม่เที่ยง แต่ดีกว่าวัดเวลาด้วยวิธีอื่น เราจึงต้องใช้

เธอบอกว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงทรงส่งบันทึกประทานมา ๒ เรื่อง แต่อาว์ไม่ได้ถามว่าเป็นเรื่องอะไร
เป็นพระวิจารณ์เรื่องพิธีตรุสกับเรื่องเห่ช้าลูกหลวงหรือมิใช่ ถ้าเป็นเรื่องนั้นก็ไม่ต้องส่งอาว์ เพราะอาว์ได้รับประทานมาเหมือนกัน
ตั้งใจเมื่ออ่านแล้วจะส่งมาให้เธอ

..........................................................................

วันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๓

ขอประทานกราบทูลทรงทราบฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ทรงอธิบายคำว่า “นาฬิกา” ตลอดจนเครื่องวัดโบราณมาโดยละเดียด
ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบความหลายอย่างที่ยังไม่เคยทราบ บังเกิดแนวความคิดใหม่ๆ ต่อไปอีก
ขอประทานกราบมาแทบฝ่าพระบาท

เหตุที่จะกราบทูลถามเรื่อง “นาฬิกา” เมื่อวันนั้น ยังกราบทูลไม่ตลอด เพราะไม่สู้สะดวกด้วยทรงกังวลด้วยการปฏิบัติพระเป็นต้น
จึงขอประทานกราบทูลทางจดหมายดังนี้

ในโนตที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเรื่อง “กลาโหม” ในวารสารของสยามสมาคม ข้าพระพุทธเจ้าได้ทักว่า
ศาสตราจารย์เซเดส์แปลศิราจาฤกเขมรโบราณแห่งหนึ่ง มีบัญชีสิ่งของ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงพระราชอุทิศถวายพระเป็นเจ้า
ในบัญชีนั้นมีรายการอันหนึ่งว่า “กะลาพระกาล” ซึ่งเซเดส์หาได้อธิบายไว้ไม่ว่าเป็นสิ่งของชนิดไร ทำให้อยากเดาว่า
ตามรูปศัพท์น่าจะแปลว่า บริเวณของเวลา หรืออีกนัยหนึ่งเครื่องวัดเวลา ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า
ไทยเราแต่เดิมทีก็ปรากฏว่าใช้เปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นเครื่องวัดเวลา จึงเห็นว่า เป็นเหตุให้ชวนสันนิษฐานต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า

ด้วยนัยนี้เองกระมังเปลือกแข็งของลูกมะพร้าวจึงมาได้ชื่อว่า “กะลา”
ทั้งนี้ก็ได้แต่เพียงปรารภเพราะไม่มีหลักฐานอันใดที่แน่นอนยิ่งไปกว่านี้ที่พอจะยืนยันได้

ต่อมานายแล็งกาต์ได้บอกข้าพระพุทธเจ้าให้สังเกตดูในกฎหมายลักษณะพิสูจน์ และพระราชกำหนดใหม่ ซึ่งมีกล่าวถึง “นาระกา”
เป็นเครื่องวัดในการดำน้ำพิสูจน์สำหรับคู่ความ ในพระราชกำหนดใหม่ (บทที่ ๒๙ หน้า ๔๐๑ เล่ม ๓ ในฉะบับตราสามดวง
ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองพิมพ์ขึ้น) มีความกล่าวว่า เกิดการพิสูจน์ดำน้ำโดยใช้ “นาระกา” ถือเกณฑ์กันที่ “นาระกา”
ล่มหรือยัง สมเด็จพระพุทมธบยอดฟ้าฯ “ทรงแคลง” การที่เอา “นาระกา” มาใช้ โปรดให้ลูกขุน ณ ศาลหลวงสอบพระอัยการ
พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูลว่า “ดำน้ำตั้งนาระกามิได้พบในพระอัยการ พบแต่คำว่าดำน้ำกันให้ยุกระบัตรกลั้นใจสามกลั้น”
แต่ปรากฏว่า ที่เมืองราชบุรีใช้นาระกากันจึงมีพระบรมราชโองการสั่งว่า “กฎหมายให้ตั้งนาระกานั้นหามิได้” ให้ห้ามมิให้ใช้นาระกา
และตัวอย่างราชบุรีก็ไม่โปรดให้อนุโลม

“นาระกา” ในที่นี้คงจะต้องเป็นเปลือกแข็งของลูกมะพร้าวเป็นแน่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกะลา นั่นเอง จึงได้มีการ “ล่ม” กัน

นายแลงกาต์กับข้าพระพุทธเจ้าได้พร้อมกันพลิกดูลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง ซึ่งมีพระราชปรารภแต่รัชกาลอู่ทอง
พบความว่า “ตั้งนาลิกา” ในมาตรา ๗ ซึ่งไม่ตรงกันกับที่พระมหาราชครูมหิธรกราบบังคมทูล ได้พิเคราะห์หาร่องรอยที่จะสันนิษฐานว่า
เหตุไรพระมหาราชครูมหิธรจึงกราบบังคมทูลดั่งนี้ จะหลงก็มาสม เพราะพระราชบัญญัติก็สั้นมีความเพียง ๗
มาตราเท่านั้น จะว่ามาตราที่กล่าวถึง “นาลิกา” นี้เติมเข้าไปภายหลัง ก็มิต้องเติมภายหลังพระราชกำหนดใหม่
ซึ่งมีปีเดือนวันคืนแห่งพระบรมราชโองการแน่นอนว่า จุลศักราช ๑๑๕๗ ปีเถาะ ฯลฯ หรือและเช่นนั้น
เหตุไรจึงเติมลงไปในพระราชบัญญัติโบราณ ในเมื่อมีพระราชกำหนดใหม่ระบุความค้านอยู่ชัดๆ ดั่งนี้
หรือจะเติมลงระหว่างตอนกลางหรือปลายของกรุงศรีอยุธยา และพระมหาราชครูมิได้ฉบับมีมาตรา ๗ นี้เดิมไว้ข้างท้าย
เพราะกฎหมายนั้นยังมิได้ชำระเสร็จ เมื่อทรงสั่งในรัชกาลที่ ๑ เรื่องไม่ให้ใช้นาระกาสำหรับพิสูจน์ดำน้ำนี้
ไปมาก็ไม่มีใครตัดสินทางใดลงไปได้ เลยต้องนั่งหัวเราะกันอยู่

ฝ่ายชาวนาฬิกาที่ใช้นาฬิกาขันลอยน้ำเฝ้าดูอยู่เป็นนิจนั้นเห็นเข้าใจได้บ้างว่าลางฤดูกลางวันมากไปกลางคืนน้อ
ยลางฤดูทุ่มโมงกลางวันกลางคืนเสมอเท่ากันทุกขัน ถึงกระนั้นจะยักย้ายธรรมเนียมใหม่ คือ ให้เอกกลางวันเป็น
13 โมง 14 โมง กลางคืน เป็น 10 โมง 11 โมง หรือจะย่ำค่ำต่อวันย้ำรุ่งต่อสายตามขณะขันจมเป็นจริงนั้นก็ไม่ได้
ไม่มีใครเชื่อกลับดิเตียนว่านาฬิกาไม่ถูก ชาวนาฬิกาก็ต้องหนุน ล่ม ๆ ผิด ๆ ถูก ๆ
ไปจะจัดแจงให้เรียบร้อยเสมอกันก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จักลักษณะพระอาทิตย์โคจรตามฤดูกาลเป็นเที่ยงได้
ไม่มีใครวางกำหนดให้ตามฤดู เพราะฉะนั้นทุ่มโมงหลายแห่งก็ดีไม่ถูกกันผิดกันหลายบาทนาฬิกา
แต่คนทั้งปวงในพระนครโดยมาก ก็เชื่อว่าทุ่มโมงในพระบรมมหาราชวังในพระบวรราชวังถูกต้องแน่นอนเป็นนิจ
เพราะมีผู้พนักงานผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าดูแลตรวจตรา แลมีโหราจารย์ดูแลอยู่
ฝ่ายพนักงานเมื่อจะบอกบาทนาฬิกาตามฤกษ์ยามโหรให้ในกาลใด ๆ เมื่อฤดูต้องหนุน ต้องล่ม
ก็คะเนบอกบาทขาด ๆ เกิน ๆ ผิดๆ ไปคงให้ได้แต่ความแต่ว่าโมงละ10 บาท อยู่นั้นเอง
ดูการฟั่นฟือนเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะนักหนาเป็นที่อัปยศอดสูแก่แขกเมืองคนนอกประเทศที่เขาใช้นาฬิกากล
ใส่พกติดตัวเที่ยวมาเที่ยวไป เขาจะได้ยินทุ่งโมงตีสั้น ๆ ยาว ๆ ผิดไปกว่าทุ่มโมงที่จริงนั้น
จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ ว่าเมืองเราใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย
เพราะเหตุฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิ
ตย์ในฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกาที่ดีมาหลายปี ทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการแจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว (คัดจาก
ประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 306 พ.ศ.2411)

ค้นคว้าจากพจนานุกรมไทย-บาลี ฉบับภูมิพโลได้ความว่า

นาฬิเกร หมายถึง ต้นมะพร้าว
นาฬิเกริก หมายถึง เป็นของต้นมะพร้าว

นาฬิกา หมายถึง มาตรวัดความจุ(เช่นทะนาน)/กะลามะพร้าว
กะลาที่เจาะรูใช้ลอยน้ำพอกะลาจมก็ตีฆ้องหรือกลอง เรียกว่า ๑ นาฬิกา

นี่คือการบอกเวลาแบบไทยๆในยุคสมัยก่อน จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประเทศไทยได้เปิดรับอารยธรรมตะวันตกมากขึ้น
รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ทรงสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราครา ที่ต.หว้ากอ
จ.ประจวบคีรีขันธ์ได้ ทรงมีพระราชดำริว่า

"...จะเป็นเหตุให้เขาหัวเราะเยาะเย้ยได้ว่าเมืองเรา ใช้เครื่องมือนับทุ่มโมง เวลาหยาบคายนักไม่สมควรเลย เพราะเหตุฉะนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพินิจพิจารณาตรวจตราคำนวณความดำเนินพระอาทิตย์ ให้ฤดูทั้งปวงสอบกับนาฬิกา ที่ดีมาหลายปีทรงทราบถ้วนถี่ทุกประการ แจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว..."

รัชกาลที่ 4 จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งภูวดลทัศไนย” ซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม(เดิม) ตรงพุทธนิเวศน์
พระที่นั่งนี้เป็นพระที่นั่งตึกสูง 5 ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน มีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวง
เพื่อทำหน้าที่บอกและรักษาเวลามาตรฐาน ดังปรากฏในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 306, พ.ศ. 2411

พระที่นั่งองค์นี้ ทรงกำหนดให้เส้นแวง 100 องศา 29 ลิปดา 50 ฟิลิปดา ตะวันออก เป็นเส้นแวงหลักผ่านพระที่นั่งภูวดลทัศไนย และได้โปรดฯ
ให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐาน ประจำหอนาฬิกาหลวง ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรก คือตำแหน่งพันทิวาทิตย์
มีหน้าที่เทียบเวลากลางวันจากดวงอาทิตย์ และตำแหน่งพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลากลางคืนจากดวงจันทร์
โดยสังเกตจากดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ที่เคลื่อนผ่านเมอริเดียนของสถานที่สังเกตการณ์ของบุคคลทั้งสอง ซึ่งก็คือ พระที่นั่งภูวดลทัศไนย
และจากการที่ทรงได้สังเกตดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามานานหลายปี ทรงพบว่าการขึ้น ตก และแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในเดือนต่างๆ นั้น
แตกต่างกัน ที่หอนาฬิกาหลวงจึงมีการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นรายวันทุกๆ วัน เพื่อตั้งปรับเวลาที่หอนาฬิกาหลวงตามที่ได้คำนวณไว้ล่วงหน้า
เพื่อให้เป็นเวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง หรือที่เรียกว่า Bangkok mean time ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าที่กรีนิช 6 ชั่วโมง 42 นาที
ดังนั้นประเทศไทยของเราจึงมีเวลามาตรฐานเป็นของตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 และได้มีการออกพระราชกำหนดเรื่องนาฬิกา ในปี พ.ศ. 2411
อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาล

Wednesday, January 12, 2011

กระต่ายหมายจันทร์

เพลงนี้เป็นเพลงใหม่ของ อาจารย์ ดนู ฮันตระกูล
อยู่ใน ชุด " เสน่หา "

เป็น เพลง.....ที่น่าฟังอีกเพลงหนึ่ง......จะเป็นการตัดพ้อระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงรองฟังดูนะครับมันน่ารักดีนะครับ