Thursday, August 13, 2009

บทความของคุณปู่


เซ็นเซอร์
Censor



โดย มานิจ สุขสมจิตร


เซ็นเซอร์ (Censor) หมายถึงการกวดขันคำพูดหรือการตัดทอนสาระในการสื่อสารในประเด็นที่ไม่สมควร ที่เห็นว่า จะเป็นอันตราย ไวต่อความรู้สึก หรือไม่เหมาะสมต่อรัฐบาล โดยสื่อมวลชนที่อาจถูกตรวจสอบกวดขันได้แก่ หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ วีดีทัศน์ อินเตอร์เน็ต ดนตรี หนังสือพิมพ์ คำพูด และการแสดงความคิดเห็น
คำว่า เซ็นเซอร์ (Censor) ในตัวของมันเองเป็นชื่อ เรียกผู้พิพากษาตระลาการ หรือผู้ปกครองระดับต่างๆในสมัยโรมัน โดยผู้พิพากษาหรือผู้ปกครองทั้งหลายจะต้องสำรวจ
สัมมะโนประชากร (Census) โดยที่ขณะกำลังแจงนับจำนวนประชากรอยู่นั้น ก็จะต้องตรวจตราศีลธรรมจรรยาและความประพฤติของพลเมืองไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการตรวจตราหรือควบคุมจึงเรียกการนั้นเป็นการเซ็นเซอร์ตั้งแต่นั้นมา
ในการเซ็นเซอร์ได้มีการกระทำต่อสื่อมวลชนในมิติทางต่างๆ เช่น มิติด้านศีลธรรมจรรยาไม่ให้มีการเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร มิติด้านการทหาร ไม่ให้มีการเผยแพร่ยุทธวิธีและการข่าวกรอง มิติด้านการเมืองไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารบางเรื่องบางประเด็น ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐบาล มิติทางด้านศาสนามิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะเป็นการบีบบังคับให้คนนับถือหรือไม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง มิติสุดท้ายเป็นมิติแห่งความร่วมมือซึ่งบรรณาธิการข่าวของสื่อมวลชนอาจเข้าไปขัดขวางหรือระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นเอง อันอาจเป็นผลกระทบต่อธุรกิจของกันเองหรือของหุ้นส่วนในทางลบ
สำหรับสื่อมวลชนมองการเซ็นเซอร์ หรือ การตรวจข่าวก่อนการเผยแพร่(Censor) ว่าเป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนและเป็นการตัดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้นคำว่า เซ็นเซอร์ จึงเป็นคำที่พึงรังเกียจและมองว่าการเซ็นเซอร์เกิดจากฐานความคิดของความกลัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัวจะสูญเสียอำนาจรัฐ กลัวความไม่สงบเรียบร้อยของสังคม กลัวความรู้ใหม่ๆ อันจะทำให้ผู้มีความรู้เก่าถูกลดความสำคัญลงไป กลัวความเชื่อทางศาสนาใหม่หรือทัศนคติใหม่ๆ ฉะนั้นผู้มีอำนาจรัฐจึงต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดและมีการตรวจสอบก่อนจะเผยแพร่จนมีความคิดว่า การเซ็นเซอร์ที่ทำกันอยู่นั้นได้ให้ประโยชน์แก่สังคมหรือเป็นการทำลายคุณค่าของผลงานมากกว่ากัน
โดยเฉพาะการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของพนักงานผู้ตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของไทยที่ไม่ให้มีภาพการสูบบุหรี่ หรือ ดื่มสุรา ภาพการฆ่าคน ภาพข้าราชการกระทำผิดกฎหมายหรือภาพการข่มขืนกรรทำชำเรา(ที่ไม่โจ๋งครึ่ม) จึงมีผู้ตั้งคำถามอยู่เสมอว่าเท่าที่ผ่านมามีกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์คนใดที่ได้ตรวจพิจาณาภาพยนตร์แล้วคิดจะไปปลุกปล้ำกรรทำชำเราใครบ้างหรือไม่หรือคิดจะไปล้มล้างระบบล้มล้างอำนาจรัฐหรือไม่ หรือ ว่ากรรมการผู้ตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของไทยเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่มีภูมิคุ้มกันหรือมีความอดทนอดกลั้นดีกว่าคนอื่นๆที่มิได้เป็นกรรมการเซ็นเซอร์
อย่างไรก็ตามการควบคุมตรวจสอบหรือการเซ็นเซอร์ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานับพันปีแล้วทั้งประเทศทางตะวันตกและประเทศทางตะวันออกโดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการหรือกระเดียดไปทางเผด็จการซึ่งเมื่อมีระบบเซ็นเซอร์(Censorship) แล้วมักทำอย่างหนึ่ง อย่างใด เช่น 1 เก่งการสั่งห้ามเผยแพร่ (Banning) 2 ทำลาย (Destroying)
3 การกำหนดว่าจะต้องได้รับอนุญาตก่อน (Licensing) และ 4 การยับยั้งหรือหน่วงเหนี่ยวกักไว้ก่อนเพื่อให้มีการแก้ไขหรือรอเวลา (Prior restraint)
ในประเทศไทยกรณีหนังสือพิมพ์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วได้เกิดการขัดแย้งทางความคิดขนานใหญ่ระหว่างฝ่ายนิยมการเมืองระบอบเก่ากับระบอบใหม่ประกอบกับนักการเมืองในยุคนั้นที่มีอำนาจรัฐเห็นว่าหนังสือพิมพ์ที่ไม่เสนอข่าวและความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อตน อาจเป็นภัยต่อตนได้ ดังนั้นหนังสือพิมพ์ที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล มักจะถูกสั่งปิดด้วยข้อหาต่างๆ เช่น ข้อหาเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน หรือ มีข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น
ช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการควบคุมเสรีภาพหนังสือพิมพ์อย่างจริงจังโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีได้ตรา พรบ. การพิมพ์ พ.ศ.2484 ขึ้นมาใช้แทน พรบ. สมุดเอกสารหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2470 กฎหมายฉบับใหม่ได้ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมตำรวจ(ปัจจุบัน เรียกตำแหน่งนี้ว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) และ เจ้าพนักงานการพิมพ์ ( กรณีต่างจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์)ในการควบคุมดูแลหนังสือพิมพ์มากขึ้นกฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่จำกัดตัดรอนเสรีภาพหนังสือพิมพ์อย่างรุนแรง( พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 )
ครั้นเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ได้มีการจำกัดเสรีภาพหนังสือพิมพ์มากยิ่งขึ้น (ขณะนั้นยังไม่มีโทรทัศน์ ส่วนสถานีวิทยุกระจายเสียงก็เป็นของกรมโฆษณาการหรือของส่วนราชการอื่นๆ) โดยกระทรวงกลาโหมได้ประกาศตั้งคณะกรรมการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ให้ทำหน้าที่ตรวจข่าวก่อนตีพิมพ์และกรมตำรวจได้ออกประกาศห้ามเสนอข่าวการประชุมสภาป้องกันราชอาณาจักร สภากลาโหม หรือข่าวการประชุม 3 กองทัพรวมทั้งห้ามเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของทหารไทยที่ไปร่วมรบกับสหประชาชาติในเกาหลีและห้ามวิพากษ์การเมืองระหว่างประเทศ
มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างความหวาดกลัวและยากลำบากแก่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์สมัยนั้นอย่างยิ่ง เพราะก่อนจะตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ออกจำหน่ายนั้นจะต้องทดลองพิมพ์เพียงฉบับเดียวที่เรียกว่า “ ปรู๊ฟหน้าแท่น ” ไปให้เจ้าพนักงานเซ็นเซอร์ตรวจก่อนหากเจ้าพนักงานเห็นว่าข่าวใดภาพใดหรือบทความใดไม่ต้องการให้ออกเผยแพร่ก็จะขีดกากบาทลงในฉบับทดลองพิมพ์นั้น ทำให้กองบรรณาธิการต้องจัดหาข่าวภาพหรือบทความอื่นลงแทนเพื่อที่จะได้ออกจำหน่ายทันในตอนบ่าย ข่าวที่เตรียมไว้จะต้องเป็นข่าวภาพหรือบทความที่แน่ใจว่าจะไม่ถูกห้ามพิมพ์ เช่นข่าวเกี่ยวกับพลเมืองอีกาในท้องสนามหลวงหรือจำนวนต้นมะขามรอบสนามหลวงคงเหลือกี่ต้นแห้งตายไปกี่ต้นจนเป็นที่ขบขันแก่ผู้อ่านยิ่งนัก
การจำกัดสิทธิเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ยังคงมีอยู่ใน พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 ตลอดมาบางครั้งมีความเข็มงวด ยิ่งขึ้นด้วยการออกกฎหมายพิเศษมาควบคู่ เช่น ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 (สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่42 (สมัยพลเรือเอกสงัด ชลอยู่) จนเมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จึงได้มีการยกเลิกอำนาจการสั่งปิดโรงพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แต่เจ้าพนักงานการพิมพ์ยังมีอำนาจเซ็นเซอร์ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรค สี่ ความว่า “ การให้นำข่าวหรือ บทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์วิทยุกระจายเสียงหรือ วิทยุโทรทัศน์จะกระทำมิได้ เว้นแต่ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ ในสภาวะสงครามหรือการรบ แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ร่างขึ้นตามวรรคสอง ”
ครั้นเมื่อใดมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอานาจักรไทย พ.ศ. 2540 แล้วบทบัญญัติในเรื่องอำนาจการเซ็นเซอร์(การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณา ในหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่นๆ) จะกระทำมิได้มีอยู่ในมาตรา 45 วรรคห้า แต่มีเงื่อนไขว่า “ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประกาศอยู่ใน ภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ได้ตราขึ้นตามวรรคสอง ”
ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจการเซ็นเซอร์ในฉบับพ.ศ. 2540และฉบับ พ.ศ. 2550 มีความแตกต่างกันโดยฉบับ พ.ศ. 2540มีถ้อยคำว่า “ หรือการรบ ” อยู่ต่อท้ายคำว่า “ในภาวะสงคราม ” ด้วย แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้ตัดคำว่า “ หรือการรบ ” ออกจึงน่าจะหมายความว่าปัจจุบันนี้หากจะมีการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นได้ก็เฉพาะแต่ในเวลาที่ประกาศอยู่ในสภาวะสงครามเท่านั้น
ซึ่งสภาวะสงครามที่ว่านี้มาตรา 223 ของรัฐธรรมนูญแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า “ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม เมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ” ฉะนั้นการอ้าง “ สภาวะสงคราม ” ลอยๆย่อมไม่อาจกระทำได้ จะต้องเป็นสภาวะสงครามตามความหมายของมาตรา 223

*****************************

Wednesday, August 12, 2009

The family vacation.blogspot.com

The family vacation.blogspot.com

อันนี้เป็น BLOG ของคนใกล้ตัวของผมเองนะครับ พวกคุณ รองเข้าไปดูได้เลย
น่าสนุกดี

ผมว่ากำลังจะเขียนพาเที่ยวอยู่เหมือนกันครับแต่คงเป็นในประเทศไทยก่อนคงจะได้มั๊ง.....หรือคุณว่าอย่างไร